วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประเพณีไทยกับการค้นพบจากหลักฐานโบราณคดี

คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เริ่มฝังศพมาตั้งแต่สมัยหินเก่าตอนต้น เฉพาะในประเทศไทย ยังไม่พบหลุมศพคนสมัยหินเก่า ประเพณีการฝังศพสมัยหินเก่าตอนปลายและสมัยหินกลางนั้นไม่ต่างกันมากนัก ศพจะฝังอยู่ในลักษณะคล้ายท่านอน บางศพก็นอนหงายเหยียดท่าตรง บางศพนอนตะแคงเข่างอเกือบถึงคาง ร่างของผู้ตายโดยเฉพาะจะมีแผ่นหินวางป้องกันอยู่ 

นอกจากนี้ยังใส่อาหาร เครื่องมือหรือของอื่น ๆ ลงไปให้ศพด้วยเช่น ดินแดง เปลือกหอย เครื่องรางและเครื่องประดับ เพราะเชื่อว่าผู้ตายจำเป็นต้องใช้สิ่งดังกล่าวระหว่างเดินทางไปยังเมืองผี และเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้กลับมีชีวิตขึ้นอีก ทั้งจะเป็นเครื่องบอกฐานะของตนเมื่อไปถึงยังอีกโลกหนึ่ง

ยุคหินใหม่ ในประเทศไทย คือระหว่าง ๓,๘๗๙ ปี ถึง ๑,๖๓๐ ปี โครงกระดูกพบที่ ตำบลกลางแดด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ แต่ได้ถูกชาวบ้านเผาทำลาย 

จากการสอบถามทราบว่าพบขวานหิน กำไลหิน หินงบน้ำอ้อย เครื่องปั้นดินเผา ลูกปัดทำด้วยเปลือกหอย และลูกปัดทำด้วยกระดูกสัตว์ปะปนอยู่กับกระดูกคน และที่บ้านนาดี โนนนกทา ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ได้ขุดพบโครงกระดูกคนสมัยหินใหม่ในชั้นดินระดับที่ ๑ 

การฝังศพคนสมัยหินใหม่ที่บ้านนาดีมีดังนี้ คือ ศพนอนหงายเหยียดยาว ฝ่ามืออยู่ข้างตัว เท้าอยู่ใกล้กัน ศีรษะหันไปทางทิศตะวันออก สิ่งที่ฝังร่วมกับศพคือ ลูกปัดรูปแว่นขนาดเล็ก ทำด้วยกระดูก พบที่ข้อศอก ข้อมือ และรอบเอว นอกจากนั้นยังพบลูกปัดหินขัดทำเป็นรูปหลอดใหญ่ ๓ ลูก ส่วนของที่ใส่ลงไปในหลุมมีกะโหลกศีรษะสัตว์ กระดูกสัตว์ท่อนยาว เครื่องปั้นดินเผาที่สมบูรณ์หรือทุบให้แตก ลักษณะของของที่ใส่ลงไปในหลุมและการจัดวางแตกต่างกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น